วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

การสร้างแบรนด์ : สินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก

การสร้างแบรนด์ : สินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก

              อันที่จริง ได้บอกกล่าวกับทีมงานว่าจะเขียนเรื่องของมังคุด ราชินีผลไม้ ตอนต่อจากฉบับเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา แต่เมื่อได้พบปะพูดคุยกับผู้ส่งออก และเกษตรกร ในเรื่องปัจจัยแวดล้อมภายนอกเรื่องของค่าเงินบาทแข็ง (ตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 7.1% ในขณะที่ เงินหยวนของจีนปรับแข็งค่าขึ้น 3.2% เงินริงกิต ของมาเลเซียแข็งค่าขึ้นเพียง 2.7 % ในขณะที่เงินรูเปียของอินโดนีเซียกลับอ่อนค่าลง 1.6 %) อีกทั้งราคาน้ำมันก็ขึ้นเอา ๆ การผันผวนและแข็งค่าของเงิน ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกโดยเฉพาะรายย่อยที่สายป่านไม่ยาว รวมถึงเกษตรกรค่อนข้างรุนแรง เมื่อฉบับที่แล้ว ผมเขียนไปบ้างบางส่วนในการปรับตัวขององค์กร ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอเขียนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ในเรื่อง “การสร้างแบรนด์” ซึ่งเป็นหนทางในการเพิ่มมูลค่าของตัวสินค้าทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่สภาพแวดล้อมภายในของราคาสินค้าเกษตรไม่นิ่ง การสูญเสียควบคุมยาก มีเวลาจัดการสั้น ค่าแรงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศมีสูง การเพิ่มราคาลูกค้าทำได้ยาก ผู้ส่งออกรายย่อยเริ่มมีอาการซวนเซออกอาการให้ได้เห็นกันบ้างแล้ว ครั้นจะอาศัยขายขึ้นห้างในประเทศ ต้องระวังเพราะเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย เช่น กำหนดราคาขายให้ แต่ห้างเอากำไรเหนาะ ๆ ร่วม 50 % เอาเงินแรกเข้าเพื่อโปะกับรายเก่าที่ทำไม่ได้ตามเงื่อนไข ทำเสร็จแล้วขาดทุนไปตาม ๆ กัน (ลองสอบถามผู้ที่เคยผ่านสังเวียนนี้มาได้ครับ) เพราะขายไม่เป็นไปตามที่พนักงานห้างประมาณการณ์ให้ฟัง ต้องจัดโปรโมชั่นเสียย่อยเสียยับระวังครับจะโดนแรงจูงใจเรื่องจำนวนขายต่อปีมากมายแต่ขายขาดทุน ดังนั้นที่ ใคร ๆ คิดว่าการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรสร้างยาก ลองอ่านดูครับ เพราะเป็นหนทางเพิ่มมูลค่าโดยตรง ผมทำมาแล้วประสบความสำเร็จ และทำได้จริงทำได้ไม่ยากหากตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะทำ ไม่ต้องรอใครมาช่วยเหลือ ช่วยตัวเองได้ ทั้งผู้ส่งออก และเกษตรกรครับ!
                 ปลายเดือนมิถุนายน ผมได้รับเชิญ จาก รองศาสตราจารย์ ดร. กุณฑลี รื่นรมย์ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ไปบรรยายให้นักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ในหัวข้อ การสร้างแบรนด์สินค้าไทยสู่ตลาดโลก เห็นว่ามีประโยชน์และน่าที่จะเอามาถ่ายทอดให้ท่านได้อ่านเก็บเป็นองค์ความรู้ และพัฒนาให้สินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มในยามวิกฤติค่าเงินที่แข็งตัว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้อย่างไม่ยาก โดยยึดหลักง่าย ๆ 8 ประการ คือ ผลิตสินค้าต้องมีคุณภาพ การตลาดที่เริ่มจากภายในองค์กร การสื่อสารแบบ 360 องศา  การวิจัยและพัฒาอย่างต่อเนื่อง  มีคุณธรรม และจริยธรรม มีความโปร่งใสทั้งภายในและคู่ค้า สร้างความแตกต่าง แตกต่าง และแตกต่างให้กับตัวสินค้า การให้บริการด้วยหัวใจ มีรายละเอียดดังนี้ครับ!
             คุณภาพของสินค้า แม้ว่าสินค้าทางด้านการเกษตรจะเป็นสินค้าที่มีขึ้นตามฤดูกาล แตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม ตัวอย่าง เช่น ลำไย มะม่วง มังคุด เงาะ ทุเรียน ส้มโอ มะพร้าวอ่อน ฯลฯ ที่จริงผู้ส่งออก พ่อค้า หรือเกษตรกร รู้จักสินค้าที่ตนเองผลิตได้ดีกว่าผู้อื่น แต่ที่สำคัญ ยังไม่รู้ว่า “คุณภาพ” คืออะไร หลายต่อหลายคนยังเข้าใจว่าผิวสวย หรือรสชาติดี ปลอดภัย เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอ บางท่านถึงกับบอกว่าของตนดีกว่าของผู้อื่น เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปบรรยายให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือตอนล่าง ได้ยินท่านรองผู้ว่า บอกว่ามะม่วงที่จังหวัด ดีที่สุดของประเทศ รสชาติดี สีเนื้อสวย ผมเห็นด้วย แต่ผมมองว่าการวัดคุณค่าของสินค้าถ้าจะให้เกิดความชัดเจนควรวัดจากคนภายนอก อย่าวัดจากตัวเรา ผมเดินทางไปเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทยที่ปลูกมะม่วง และได้ทดลองชิมมะม่วงมานานกว่า 30 ปี ผมยังไม่กล้าสรุปว่าจังหวัดไหนคุณภาพดีกว่ากัน แต่ผมกลับมองว่ามะม่วง ถ้าจะดีนั้นจะต้องมีองค์ประกอบหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่มะม่วงนะครับ ลำไย มังคุด ทุเรียน อื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าจะสร้างคุณค่าให้กับสินค้า (ผลไม้) จำเป็นต้องมีงานวิจัยมาสนับสนุนและพัฒนาต่อยอด เพราะนั่นคือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า หรือผู้บริโภค ตัวอย่างเช่นการที่ผลไม้รสชาติจะดีได้นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ปลูกเลยครับ การเตรียมดิน การตรวจสอบดิน สภาพความเป็นกรดเป็นด่าง การตรวจสอบธาตุ เอ็น พี เค การตรวจน้ำ การตรวจสภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเลือกสายพันธุ์ที่ดี เมื่อนำมาปลูกแล้วก็ต้องดูแล เลี้ยงดู เหมือนเลี้ยงลูก เราอยากให้ลูกสมบูรณ์ แข็งแรง ฉลาด ก็ต้องดูแล ผลไม้เหมือนกัน ใคร ๆ อาจจะมองว่าเวอร์เกินไป เชื่อเถอะครับการปลูกผลไม้เพื่อขายในระดับสากล ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง ทำเล่น ๆ ก็ได้ราคาแบบเล่น ๆ ถ้าทำแบบตั้งใจ ก็ได้ราคาดี เป็นตรรกะง่าย ๆ ครับในขณะที่โตพอที่จะผลิตผลได้ ต้องดูแลตั้งแต่ยังไม่ออกดอก จนออกดอก เป็นผล จนเก็บ ต้องหมั่นตรวจดูทุกขั้นทุกตอนนะครับ การใช้ปุ๋ย ยา ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ส่งผลต่อต้นทุน ต้นผลไม้ และตัวผลไม้ครับ เช่น การใส่ปุ๋ยที่ไม่รู้ว่าในดินขาดธาตุอะไร ใส่ลงไป ทำให้ต้นไม้ได้สารอาหารบางอย่างมากเกินไป หรือขาดสารอาหารบางอย่าง เหมือนคนขาดสารอาหาร กลายเป็นขาดภูมิคุ้มกันและต้านทาน เป็นโรคง่าย ตามหาสาเหตุกันวุ่นวายไปหมด สารเคมีก็เช่นกัน ควรตรวจสอบให้ดีว่าเป็นโรคอะไร อย่าใช้ยาที่ครอบจักรวาล ไม่มียาอะไรรักษาได้ทุกโรคในเวลาเดียวกัน อาจจะได้ผลในบางโรค แต่สะสมในดิน น้ำ และตัวคนใช้ แถมยังสิ้นเปลือง อีกทั้งยังทำลาย ต้น ผล คน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสะสมจนเกิดความสลับซับซ้อนจนยากต่อการเยียวยา วันก่อนผมได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ท่านหนึ่ง และได้พูดคุยเรื่องมังคุดเป็นเนื้อแก้ว หลาย ๆ คนพูดถึงสาเหตุของการเกิดเนื้อแก้วในมังคุดว่ามาจากการได้น้ำมากเกินไป แต่ท่านกลับพูดถึงเรื่องการวิเคราะห์ดินที่ปลูก มิใช่วิเคราะห์เพียงครั้งเดียว แต่ควรวิเคราะห์บ่อย ๆ และก็ไม่ใช่วิเคราะห์เพียงธาตุ เอ็น พี เค (เอ็น-ไนโตรเจน บำรุงใบและต้น, พี-ฟอสฟอรัส บำรุงรากและดอก, เค-โพแทสเซียม ปรับปรุงคุณภาพ) เท่านั้น แต่ควรจะวิเคราะห์ถึงสารองค์ประกอบย่อย ๆ ด้วย ซึ่งผมเห็นด้วย ครับ จนกระทั่งผลโตก็ต้องดูแล อาจจะต้องห่อผลเพื่อกันแมลง ลดการใช้สารเคมี เพื่อความสวยงามของสีผิว การห่อก็ต้องเลือกผลห่อที่สมบูรณ์ เพื่อให้มีประสิทธิผลสูงสุด ต้นไม่โทรม ลดค่าใช้จ่ายในการห่อ การเก็บเกี่ยวก็ต้องมีดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน ไม่อ่อน หรือแก่เกินไป ตัวอย่าง เช่นการแช่น้ำเกลือ 2 % กับมะม่วงน้ำดอกไม้ (เกลือแกง 2 กรัม ต่อน้ำ 100 ซีซี) ถ้าลอยในน้ำเกลือ ก็แสดงว่าแก่เกินไป เก็บไว้ขายในประเทศที่เดินทางใกล้ ๆ 2-3 วันก็สุก ถ้าจม ก็เอามาลอยใน น้ำธรรมดาผสมคลอรีนความเข้มข้น สัก 200 พี พี เอ็ม ถ้ารอยน้ำก็แสดงว่าอ่อน ถ้าจมก็แสดงว่าแก่ประมาณ 85 % อายุการเก็บรักษาจะได้ 7-10 วัน ระบุวันสุกพร้อมรับประทานให้ชัดเจน เหมาะที่จะขนส่งไปขายในต่างประเทศที่ไกล ดังนั้นรสชาติดีต้องมีองค์ประกอบหลายตัว มิใช่ของที่ใดที่หนึ่งจะมีรสชาติดีตลอดไป ถ้าไม่ดูแลให้ดี การขนส่งก็สำคัญ กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา อุณหภูมิ ความชื้น การขนส่งไปขาย เส้นทางการเดินทาง ต้องมีการคำนวณอย่างละเอียด เพื่อส่งมอบคุณค่าของสินค้าที่ดีสู่ผู้บริโภค โดยที่ให้ผู้บริโภคมีความรู้สึก ประสบการณ์เกินกว่าที่คาดหวังไว้ รับรองครับอันนี้แหล่ะ ที่เรียกว่าสินค้าดีมี คุณภาพในระดับสากล ครับ
              การตลาดที่เริ่มจากภายในองค์กร หลายต่อหลายคน หลายองค์กร หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเองมักมองว่าการตลาดเป็นหน้าที่ของฝ่ายขาย หรือถ้าเป็นเกษตรกรเองก็มักจะโยนไปให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบ อันนี้ถือว่าเข้าใจผิด การตลาดนั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเพราะอย่าลืมว่าสินค้าตัวใดตัวหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน ทุกคน เพราะถ้าไม่เข้าใจในตัวสินค้า ไม่เข้าใจในระบบ ขบวนการ ก็จะทำให้การขาย การผลิต การส่งมอบ ราคามีผลกระทบเชื่อมโยงไปด้วยกันทั้งหมด เช่น บริษัทฯ ส่งขายมังคุด ถ้าฝ่ายขายเองไม่เข้าใจในตัวมังคุด ไม่เข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับสินค้าตนเองก็มีปัญหากับการขาย ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชีถ้าไม่เข้าใจระบบของสินค้าการจัดสรรเรื่องเงิน การบริหารการเงิน ระบบบัญชีที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ต้องมีการใช้เอกสารมากมายในการซื้อ ไม่ยืดหยุ่น ก็จะเกิดปัญหาต่อการจัดการทำให้เกิดความเสียหายตามมา เกษตรกรเองก็เช่นกันถ้าไม่เข้าใจในตัวสินค้า ไม่เข้าใจผู้ซื้อ เช่น ผู้ส่งออกไปซื้อมังคุด ต้องการผิวมันเนื้อดี บางครั้งถูกยัดไส้ เอาผิวลายปนมันผสม หรือเป็นเนื้อแก้วผสมมาเพราะความเสียดาย อยากได้ราคาสูงแต่ขายสินค้าคุณภาพต่ำ อันนี้ก็จะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน
             การสื่อสาร 360 องศา ที่ผมเขียนอย่างนี้ ก็เพราะการจะสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ ทุกหน่วยงาน ทุกคนต้องมีการสื่อสารอยู่ในหัวใจ ฝ่ายขายที่ต้องมีการสื่อสาร การจัดแสดงในงานสินค้า การโฆษณาทุก ๆ รูปแบบ (ที่ประหยัดและเหมาะสมกับฐานะและสินค้า) เรียกว่าเอากันทุกรูปแบบ การให้สัมภาษณ์ การเป็นวิทยากร การเขียนหนังสือ บทความ การพูดคุยกับผู้คนที่ได้พบปะ การทำโฆษณาที่รถขนส่ง บรรจุภัณฑ์ การจัดประกวดสินค้า บรรจุภัณฑ์ การมีส่วนร่วม การช่วยเหลือส่วนรวม หน่วยงานของรัฐ การให้การเยี่ยมชมโรงงาน บริษัทฯ สวน ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายขาย ผมหมายถึงทุกฝ่ายทุกคน (ต้องมีความรู้ความเข้าใจจริง ๆ นะครับ อีกทั้งการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า เพื่อนร่วมงานในหน่วยงานเดียวกัน หรือต่างหน่วยงาน) สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์กร สินค้า บุคลากรอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย อายโรงงาน อายคน อายสวน ทุกอย่างอายไปหมดทุกเรื่อง หรือทุกอย่างกลัวไปหมด กลัวถูกลอกเลียนแบบ กลัวข้อมูลรั่วไหล ทำเหมือนกบในกะลา ไม่เคยรับรู้ ไม่เคยเห็นของคนอื่นเลยคิดว่าของตัวเองดีอยู่แล้ว พอแล้ว แต่ที่สำคัญการทำสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมตามสมควร อย่าให้มากจนเกินกำลัง หรืออย่าให้น้อยจนไม่เกิดประโยชน์กลายเป็นสิ้นเปลือง
               การวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ เป็นโลกของการสื่อสาร และการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการผลิตสินค้าจำเป็นต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง มีคุณค่าเกินประสบการณ์ และความคาดหวังของลูกค้า ดังนั้นการวิจัย และต่อยอดเพื่อพัฒนาในเชิงธุรกิจจะต้องคิดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิจัยหรือต่อยอดอย่างต่อเนื่องเราจะพบว่าตัวเองอยู่กับกระแสของการเปลี่ยนแปลงนั้น ดังนั้นข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ทำให้เรากล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะมีงานวิจัยเป็นข้อมูลสนับสนุนด้วยแล้ว เป็นอันแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เราตัดสินใจทำไปนั้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น การผลิตสินค้า (ผลไม้) ต้องวิจัยว่าความต้องการของผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อ คาดหวังในเรื่องรสชาติ รูปลักษณ์ ความปลอดภัย คุณค่าทางอาหาร ฯลฯ แค่นี้ผู้ส่งออกก็ต้องไปคิดต่อแล้วว่าจะทำอะไร ผู้ผลิตหมายถึงเกษตรกร ก็ต้องไปคิดหนักว่าจะทำอย่างไร ต้องมีการวิจัยลึกลงไปอีกว่ารสชาติจะดีมีองค์ประกอบอะไรบ้าง รูปลักษณ์ดีต้องทำอย่างไรบ้าง ความปลอดภัยต้องทำอะไรบ้าง การวิจัยในที่นี้อาจจะไม่ต้องลงทุนมากมาย อาจจะสังเกตเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น หรือนำงานวิจัยที่ทำไว้แล้วมาพัฒนาต่อยอดก็ได้เช่นกัน บางอย่างอาจต้องวิจัยใหม่ เช่นการเป็นเนื้อแก้วของมังคุด สารอาหารอาจจะมีส่วนที่ส่งผลต่อการเกิดเนื้อแก้วเป็นต้น
              คุณธรรม และจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ ทั้งผู้ส่งออก และเกษตรกร ซึ่งในโลกของการเปลี่ยนแปลง และโลกของเทคโนโลยี คุณธรรมในการประกอบธุรกิจจะทำให้เกิดความเติบโตอย่างยังยืน ซึ่งคุณธรรมนี้ ได้แก่ความซื่อสัตย์ (integrity) ความรับผิดชอบ (responsibility) ความเมตตาสงสาร (compassion) การให้อภัย (forgiveness) สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญขององค์กร และของทุกคน ถ้าขาด ธุรกิจที่ทำขาดความน่าเชื่อถือ ไม่เติบโตและไม่ยั่งยืน ลูกค้า หรือผู้ที่ติดต่อจะไม่เกิดความภักดี เรียกว่าคุยกันครั้งเดียวแล้วเลิกคบกันไป แต่ที่น่ากลัวคือยังไปบอกต่อกับคนอื่น ๆ อีก จะทำให้เสียชื่อเสียงที่สั่งสมกันมา ดังนั้นการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันคุณธรรมและจริยธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สินค้า หรือองค์องค์กรเป็นที่รู้จักและเชื่อถือในที่สุด
                ความโปร่งใส ในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจภายในประเทศ หรือระหว่างเกษตรกรกับคู่ค้า เกษตรกรกับเกษตรกรเอง ถือว่ามีความสำคัญ ความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่ได้หมายความว่า เอาข้อมูลลับของตนเองมาบอกกล่าวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีและสื่อสาร การติดต่อสื่อสารใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถติดต่อสื่อสารได้ และโลกปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้ เช่น ผู้ส่งออกรับซื้อมะม่วงจากกลุ่มเกษตรกรในราคาเดียวกันทั่วประเทศ อาจแตกต่างในเรื่องของค่าขนส่งก็ต้องชัดเจน เกษตรกรเองก็ต้องโปร่งใส อย่าอ้างคนนั้นคนนี้ซื้อแพงกว่า อะไรทำนองนี้เป็นต้น
                 การสร้างความแตกต่าง แตกต่าง และแตกต่าง ของตัวสินค้า เช่น ลำไย มะม่วง หรือ เงาะ มังคุด ทุเรียน เหล่านี้ต้องสร้าง ความแตกต่าง ไม่ใช่คิดจากตัวเรา (in side out) แต่ต้องคิดจากผู้บริโภคหรือลูกค้า (out side in) เช่น มังคุด รสชาติต้องดี เปลือกบาง ไม่เป็นเนื้อแก้ว ผิวสวย ขนาดเป็นที่ต้องการ ปลอดภัยจากสารพิษ มีคุณค่าทางอาหารและสามารถป้องกันโรคต่าง ๆ มีบรรจุภัณฑ์ที่ดี สามารถป้องกันความเสียหาย และดึงดูดใจผู้พบเห็น ราคาไม่สูงเกินคุณค่า พูดง่าย ๆ ว่าคุณค่าสมราคา แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะสร้างความแตกต่างเพราะมีจุดแข็งของสินค้าที่เป็นจุดใหญ่ ๆ มากกว่า 9 จุดแตกต่าง และในแต่ละจุดที่แตกต่างยังมีจุดที่แตกต่างย่อย ๆ อีกไม่น้อยกว่าจุดละ 5 จุด ที่พูดมาทั้งหมดนั้นทำได้ทุกจุดนะครับ อยู่ที่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง เช่น รสชาติดี ต้องกลับไปดู และพัฒนานับตั้งแต่สายพันธ์ ดิน น้ำ การดูแล การใส่ปุ๋ย การดูแล การเก็บเกี่ยว การขนส่ง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เราจะให้ลูกค้ารู้ เห็นได้อย่างไร ก็ต้องมีการนำเสนอ เช่น ทำสติ๊กเกอร์บอกคุณค่า บอกวิธีบริโภค บอกความปลอดภัย ใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะดุดตา เพื่อให้เกิดการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจ และมีข้อมูลชัดเจน เมื่อลูกค้าได้พบเห็นครั้งแรกเพื่อเป็นประสบการณ์ที่ดี หรือทำให้เกิดทัศนะคติที่ดีต่อตัวสินค้าและแบรนด์ ลูกค้าจะเริ่มเกิดความเชื่อ และความพึงพอใจ และจะกลับมาซื้อซ้ำ กลายเป็นความภักดีในที่สุด
                สุดท้ายคือการให้บริการที่มีคุณภาพ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย ทั้งในองค์กร ระหว่างหน่วยงาน ในหน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่ดี เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ เมื่อคนมีประสิทธิภาพ งานจะเกิดประสิทธิผลตามมา การส่งมอบคุณค่าของสินค้าที่ดี ให้กับลูกค้าเกินที่ลูกค้ามีประสบการณ์ และคาดหวัง เป็นแนวทางที่ต้องคิดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ลูกค้า คู่ค้าร้องขอ หรือถามหา เมื่อเห็นว่าควร หรือเหมาะสม ต้องแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนา ให้เร่งดำเนินการ ให้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาคิดค้นอย่างต่อเนื่อง อย่าประมาท อย่าวางใจ อย่าหยุดคิด ให้พินิจพิจารณา อย่าอ้างปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้หยุดคิดหยุดพัฒนา เช่น เปลืองงบประมาณ ไม่มีบุคลากร ทำไปแล้วไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือไม่ ไม่รู้จะทำไปทำไม ที่มีอยู่ก็ดีแล้ว อะไรทำนองนี้ หากทำอย่างนี้ได้นะครับ ผมว่าค่าเงินบาทจะแข็งตัวขนาดไหน ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การสร้างแบรนด์สินค้าไทยจึงเป็นทางออกและทางรอดที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ต้องรอมาตรการอะไรมาช่วย ไม่ต้องอาศัยใคร ทำได้เดี๋ยวนี้ ทำได้เลย ทำเถิดครับ !